เมื่อสองวันก่อนเดินบิณฑบาตไปนึกถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ครับ ตั้งแต่พรรษาแรกเริ่มศึกษาธรรมะ ท่านแจงไว้ว่า ขันธ์ ๕ มี รูป(ร่างกาย) เวทนา(ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) สัญญา(ความจำได้หมายรู้) สังขาร(ความปรุงแต่ง) วิญญาณ(ประสาท สัมผัส) นี้ ไม่ต้องไปหาคำจำกัดความ วิจัยเจาะลึก หาวิธีตัดขันธ์ ๕ ให้วุ่นวายดอก แค่ตัดรูป หรือโดยย่อคือ "ร่างกาย" เพียงอย่างเดียว ขันธ์อื่นอีก ๔ ขันธ์ก็ทรงตัวอยู่มิได้ เพราะขันธ์อีก ๔ ขันธ์ซึ่งเป็นนามธรรม เกาะรูป หรือร่างกายอยู่
ตัดความพอใจในร่างกาย ตัดความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ตัดเยื่อใยความห่วงหาอาทรในร่างกาย ตัดขาดการทะนุถนอมร่างกายเพียงอย่างเดียว ก็สามารถไปนิพพานได้ เพราะอะไร? เพราะคนเรารักร่างกายตัวเองเป็นที่สุดแล้ว สิ่งสุดท้ายในโลกที่จักห่วงหาอาลัยอาวรณ์ก็คือร่างกายนี้แล
ทำอย่างไรเล่าจึงจักตัดความพอใจในร่างกายได้จนถึงระดับที่เห็นว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา? เรื่องนี้ก็ไปโยงกับการทำสาธารณประโยชน์ครับ ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ว่า นอกจากการทำสาธารณประโยชน์จักมีอานิสงส์มาก บารมีเต็มไวที่สุด ยังช่วยเรื่องตัดขันธ์ห้าด้วย
เพราะงานสาธารณประโยชน์ มักเลี่ยงความยากลำบากไม่ได้ครับ การที่ร่างกายเราต้องได้รับความยากลำบาก ด้วยต้องการสงเคราะห์ผู้อื่น นอกจากได้พรหมวิหาร ๔ เต็ม ๆ แล้ว ยังทำให้เห็นความจริงของขันธ์ ๕ ว่า มันเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน สั่งสมความเห็นถูกไปเรื่อย ๆ ครับ (ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ารักน่าพอใจ) วันหนึ่งก็เต็ม
หากเรานั่งเล่นนอนเล่นแช่แอร์อยู่กับบ้าน ไฉนเลยจักได้เห็นความจริงของร่างกายว่า มันทุกข์ไม่เว้นแต่วินาทีเดียว เดี๋ยวก็ร้อนไป เดี๋ยวก็เย็นไป เดี๋ยวก็เหงื่อออก เดี๋ยวเหนียวตัว ไม่สบายตัว เดี๋ยวเหม็น เดี๋ยวสกปรก เดี๋ยวเหนื่อย เดี๋ยวปวด เดี๋ยวเมื่อยล้า ลงได้ทำงานอาสาแล้ว ความไม่น่ารักไม่น่าพอใจของร่างกายนี้ออกมาให้เห็นเต็มไปหมด
แต่ทราบธรรมะข้อนี้แล้ว ก็ออกตะลุยทำสาธารณประโยชน์ไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อนเรื่อยมาจนปัจจุบัน เป้าหมายมีเพียงประการเดียวตัดขันธ์ ๕ ตัดกิเลสให้เป็นสมุทเฉทปหาน (ตัดขาดแบบถอนรากถอนโคน ไม่มีกำเริบอีก)
จากการออกตะลุยทำบุญมาเกือบตลอดชีวิตเพศสมณะซึ่งย่่างเข้าสู่ปีที่ ๕ ได้พบปะผู้คนมากมายหลากหลายรูปแบบจนได้ข้อสังเกตว่า แม้ผู้คนเป็นจำนวนมาก มีจิตใจที่ดีงาม ใจบุญสุนทาน ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทว่ามักยังกลัวลำบาก และความกลัวลำบากนี้แปรผันตรงกับฐานะการเงินด้วย แปลกไหม? คนเรายิ่งรวยยิ่งกลัวความลำบาก (คงสบายจนชิน)
หากข้าพเจ้าไม่ได้รับคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ก็อาจกลัวความลำบากอยู่เหมือนกัน เพราะตอนเป็นฆราวาสมีความสะดวกสบายทุกอย่าง หากไม่เจอครูบาอาจารย์ป่านนี้อาจเป็นภิกษุคุณหนูโดนแดดไม่ได้ นอนตากแอร์ทั้งวันอยู่ก็ได้
หลายครั้งทีเดียวเสียงที่ตอบกลับมาหลังจากบอกบุญไป จากคนมีกำลังใจในการทำทานชนิดเท่าไหร่เท่ากันว่า ไปไหนก็พอไปได้ แต่ "ต้อง" สบายนะ ห้องน้ำห้องท่าต้องสะอาด ที่พักต้องมีรั้วรอบขอบชิด ติดมุ้งลวด พื้นปูกระเบื้อง ต้องนอนเตียง อาหารการกินต้องอร่อย ถ้าไม่อร่อยก็ขอให้พอกินได้แบบภาคกลาง หรือไม่ก็พักรีสอร์ทไปเลย กระไรเทือกนั้น มีอยู่อีกไม่น้อยที่งานบุญเป็นงานรอง งานเที่ยวงานรื่นเริงเป็นงานหลัก จักไปทำบุญทอดกฐินทอดผ้าป่าที ต้องสืบเสาะแล้วว่า มีสถานที่ท่องเที่ยวกระไรบ้าง มีกระไรอร่อย มีกระไรให้ช็อป มีวิวตรงไหนสวย ๆ ละแวกนั้น (ไม่ผิด แต่เห็นได้ชัดว่า ยังพอใจในกามฉันทะ มีรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศอยู่ กำลังใจไปนิพพานยังอ่อนมากครับ//บารมี=กำลังใจ)
คาราวานบุญคลุกฝุ่นของข้าพเจ้าจึงหาผู้ร่วมงานได้ยากยิ่ง กระทั่งคนที่ลุยไปไหนไปกัน นอนไหนนอนนั่นแบบพีค ๆ เจอฝุ่นเข้าไปยังเซย์กู๊ดบาย "ฉันต้องตายแน่ ๆ ถ้าเจอฝุ่นแบบนั้น"
ถ้ายังกลัวร่างกายลำบากอยู่ ยังเฝ้าทะนุถนอมยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอมอยู่ อย่าไปฝันถึงนิพพานในเร็ววันเลย ยังอีกนาน (แต่ถ้าร่างกายลำบากแบบคนไม่เคยแล้วทำให้ป่วย อย่างนั้นเป็นอีกเรื่องครับ เช่นนั้นถ้าฝืนทำกลายเป็นอัตตกิลมถานุโยค สุดโต่งข้างทำตนให้ลำบาก และสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง ไม่สมควรครับ ต้องลำบากพอดี ๆ มัชฌิมาปฏิปทา ต้องรู้ว่า เราลำบากเพื่ออะไร ต้องมีปัญญากำกับ)
มีบางท่านเหมือนกัน (แต่น้อยเหลือเกิน) ที่บวชแล้วมิได้ลำบากกายเลย (แต่มักออกแนวอาพาธเป็นประจำจนเห็นโทษของร่างกาย) ก็ไปนิพพานได้ อย่างไรก็ดีทุกท่านก็ต้องผ่านความลำบากทางจิตชนิดเอาชีวิตเข้าแลกเหมือน ๆ กัน ผู้ที่ผ่านความลำบากกายทำความเพียรมาก่อน เมื่อจักตัดภพตัดชาติบารมีธรรมที่เกิดจากการลำบากกายทำความเพียรนั่นแล จักกลับมาช่วยอุดหนุนให้ตัดภพชาติได้ง่ายขึ้น (ท่านที่บรรลุง่าย ๆ เพราะท่านเคยยากมาก่อนครับ วัฏสงสารนี้ไม่มีคำว่า "ฟลุ๊ค")
ข้าพเจ้าคิดอยู่เสมอครับว่า ครูบาอาจารย์สมัยก่อน เดินป่า เดินธุดงค์ ก็เพื่อให้เห็นความจริงของขันธ์ ๕ มาบัดนี้ไม่มีป่าให้เดินแล้ว (หรือมี เขาก็ไม่ยินดีให้เดิน หาว่าบุกรุกป่า) ก็เอางานสาธารณประโยชน์นี่แล แทนการเดินป่า ลำบากเหมือนกัน เหนื่อยเหมือนกัน เห็นความจริงของขันธ์ ๕ เหมือนกัน ได้ของแถมติดปลายนวมกลับมาด้วยคือได้สงเคราะห์คนยากคนจน
เดินบิณฑบาตไป พลางคิดถึงคนใกล้ตัวครับ ติดการพนันงอมแงม ก็มีความ "กลัวลำบาก" นี่แล เป็นปัจจัยสูงสุด จะให้ไปทำงานอย่างคนอื่นเขา ลำบาก ไม่ไหวหรอก ฉันต้องทำงานสบาย ๆ เท่านั้น ฉันเลยต้องหาวิธีที่ได้เงินง่าย ๆ เป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืน ความกลัวลำบากแบบไม่ฉลาดนี้เอง ทำให้เขาเจอกับความลำบากชนิดที่คนอื่นเขาไม่เจอกัน
เขาลืมคิดไปครับว่า เป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืนได้ ก็เป็นกระยาจกชั่วข้ามคืนได้เช่นกัน
มองย้อนกลับมาครับ คนที่เขากลัวลำบาก กระไรนิดกระไรหน่อย เขาก็เห็นว่า เป็นเรื่องลำบาก ยกของหนักนิดก็ลำบาก ที่นอนไม่นิ่มไม่สบายก็ลำบาก ห้องน้ำไม่สะอาดก็ลำบาก ไม่มีเครื่องไฟฟ้านู่นนี่นั่นอำนวยความสะดวกก็ลำบาก ฉะนั้นไปไหนมาไหนเลยต้องแบกสรรพวุธยุทโธปกรณ์ไปด้วย บางท่านไปหาหลวงปู่เทศก์ มีรถขนเครื่องอำนวยความสะดวก และคนรับใช้ติดตามไปด้วยขบวนใหญ่ กลัวกินไม่ได้ กลัวไม่สบาย กลัวไม่มีที่นอน กลัวสารพัดกลัว
ความกลัวลำบากนี่เองบีบคั้นให้ต้องหาเงินไว้เยอะ ๆ ไว้ซื้อสิ่งต่าง ๆ มาปรนเปรอให้ตัวเองสบาย จนลืมสังเกตไปว่า การหาเงินหน่ะ ลำบากยิ่งกว่าการทำตนให้ชินกับความลำบากเสียอีก บางครั้งก็ลงทุนถึงกับยอมลำบากในวันข้างหน้า เพื่อซื้อความสบายในวันนี้ ประเภทท่านที่ลงทุนทุศีลทำธุรกิจโดยมิชอบคดโกงคอร์รัปชั่น ไม่นานหรอกครับ เขาก็ได้พบกับความลำบากระดับที่ไม่เคยคิดฝัน ไม่ต่างจากตัวอย่างแรกที่ติดการพนัน
ผิดกับคนที่เขาไม่เคยกลัวความลำบาก ก็เลยไม่เคยต้องลำบาก เพราะเขาเห็นความลำบาก ไม่ใช่ความลำบาก กินกระไรก็ได้ อย่างที่ชาวบ้านเขากินกัน ขับถ่ายที่ไหนก็ได้ไม่รังเกียจ นอนที่ไหนก็ได้ไม่ต้องกลัว ป่าช้าก็นอนได้ งานหนักก็เอา งานเบาก็สู้ เพราะทุกอย่างล้วนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
การเห็นความลำบาก ก็คือการเห็นทุกข์ รู้ทุกข์แล้วก็แค่ยอมรับว่า มันคือเรื่องธรรมดา ไม่ดิ้นรนหนีทุกข์ เพราะทุกข์คือขันธ์ ๕ หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น
เลิกกลัวความลำบากกันดีกว่าครับ จักได้ไม่ต้องเจอความลำบาก เพราะทุกสิ่งที่คิดว่าลำบาก สุดท้ายก็กลายเป็นไม่ใช่สิ่งที่ลำบาก ซึ่งนอกจากผู้ที่ไม่กลัวความลำบากมักจักประสบความสำเร็จทางโลกแล้ว ถ้าทำกำลังใจให้ถูกต้อง ยังอาจประสบความสำเร็จทางธรรมคือถึงซึ่งพระนิพพานอีกด้วย
เจริญธรรม ฯ
ข้าพเจ้าไม่คิดว่า คนในรูปนี้ จักคิดว่าตนเองลำบากหรอกนะครับ
(มีแต่คนอื่นไปตัดสินว่า เขากำลังลำบากมากกว่า)
ภาพประกอบ : http://gotoknow.org/blog/ganesh08/311849
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น